วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551

ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata (Burm. f.) Wall. Ex Nees,วงศ์ Acanthaceae)


เป็นพืชที่ชาวอินเดียและจีนใช้เป็นยามาแต่โบราณเพิ่งจะเป็นที่นิยมในเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้ โดยใช้เฉพาะใบหรือทั้งต้นบนดิน เป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย แก้ไข้หรือเป็นยาขม เจริญอาหาร
ฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ล้มลุก สูง 30-60 เซนติเมตร ทั้งต้นมีรสขม ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งออกเป็นพุ่มเล็ก ใบเดี่ยวเรียบตรงข้ามสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อใหญ่ที่ปลายกิ่ง และซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว ผลเป็นฝักสีเขียวอมน้ำตาล เมื่อผลแก่จะแตกดีดเมล็ดออกมา

ในปี พ.ศ. 2542 คณะทำงานคัดเลือกรายการยาจากสมุนไพรบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้คัดเลือกฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นหนึ่งในการทำยาจากสมุนไพรที่มีการพัฒนา ได้แก่ ขมิ้นชัน ชุมเห็ดเทศ ฟ้าทะลายโจร พญายอ และไพล บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ2 ในที่นี้กล่าวถึงเฉพาะการใช้ประโยชน์ทางยาของฟ้าทะลายโจร พร้อมถึงการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน การทดลองทางคลินิก และกลไกการออกฤทธิ์รวมถึงพิษวิทยา และอาการไม่พึงประสงค์ที่อยู่บนหลักฐานวิชาการ (Evidence - based) โดยรวบรวมและประเมินจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หรือนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ เพื่อจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่ข้อมูล และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร

การควบคุมมาตรฐาน
สารสำคัญหลักพบในฟ้าทะลายโจร คือ Andrographolide เป็นสารในกลุ่ม Diterpenoid lactone พบในทุกส่วนเหนือดิน พบมากสุดในดอกประมาณ 5.9% รองลงมาคือใบ พบได้ถึง 3.7% และลำต้นประมาณ 1% นอกจากนี้ยังพบอนุพันธ์อื่นๆ ของ andrographolide เช่น 14 - deoxy andrographolide, neoandrographolide3 ตามข้อกำหนดของ Thai Herbal Pharmacopoeia I4 กำหนดให้วัตถุดิบส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจรมีปริมาณ total lactone ไม่น้อยกว่า 6% โดยคำนวณเป็น andrographolide และในส่วนของการทดลองทางคลินิกและกลไกการออกฤทธิ์ การใช้ประโยชน์ รวมถึงพิษวิทยาและอาการไม่พึงประสงค์ที่อยู่บนหลักวิชาการ (evidence-based) ได้ถูกรวบรวมจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการโดย สมภพ ประธานธุรารักษ์และคณะ5 ดังต่อไปนี้

การทดลองทางคลินิกและกลไกการออกฤทธิ์
การรักษาอาการเนื่องจากหวัด (common cold) การทดลองทางคลินิกเพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจรในการรักษาอาการเนื่องจากหวัด (common cold) พบว่าสารสกัดจากใบฟ้าทะลายโจรขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเท่า andrographolide 48 มิลลิกรัม) สามารถใช้รักษาอาการเนื่องจากหวัดได้ โดยในวันที่ 4 ของการให้ยา กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับฟ้าทะลายโจร มีความรุนแรงของโรค อาการอ่อนเพลีย อาการหนาวสั่นเจ็บคอ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก Melchior และคณะรายงานว่าสารสกัดจากใบฟ้าทะลายโจรขนาด 1,020 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่เพียงแต่สามารถใช้รักษาอาการเนื่องจากหวัดได้ ยังลดจำนวนวันที่ติดเชื้อหวัดลงอีกด้วย
การทดลองทางคลินิกแบบ Randomized double-blind placebo-controlled study เพื่อศึกษาประสิทธิผลของสารสกัดฟ้าทะลายโจรมาตรฐาน SHA-10 ในการบรรเทาอาการเนื่องจากหวัด (common cold) ในผู้ป่วย 158 คน โดยใช้ Visual analogue scale measurements (VAS) พบว่า SHA-10 ขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน (มี andrographolide และ deoxyandrographolide อย่างน้อย 60 มิลลิกรัมต่อวัน) สามารถใช้รักษาอาการเนื่องจากหวัดได้ภายในวันที่ 2 ของการให้ยา กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร มีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เจ็บคอ และน้ำมูกไหลลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก การศึกษาประสิทธิผลของฟ้าทะลายโจรในการรักษาอาการไข้ และเจ็บคอเปรียบเทียบกับยาพาราเซตามอล หรือผงใบฟ้าทะลายโจร ขนาด 3 กรัมต่อวัน หรือ 6 กรัมต่อวัน ติดต่อกัน 7 วัน ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาพาราเซตามอลหรือผงใบฟ้าทะลายโจร ขนาด 6 กรัมต่อวัน จะหายจากไข้และอาการเจ็บคอได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับผงใบฟ้าทะลายโจรขนาด 3 กรัมต่อวัน อย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 3 หลังรักษา แต่ผลการรักษาไม่มีความแตกต่างกันในวันที่ 7 ของการประเมินผล การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าผงใบฟ้าทะลายโจรขนาด 6 กรัมต่อวัน สามารถใช้บรรเทาอาการไข้ และเจ็บคอในผู้ใหญ่ได้ผลดี
กลไกการออกฤทธิ์ของฟ้าทะลายโจรน่าจะเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีรายงานว่าสารสกัดหยาบ andrographolide และอนุพันธุ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังมีรายงานฤทธิ์แก้ไข้ (antipyretic) และต้านการอักเสบ (anti-inflammatory) โดยกลไกยับยั้ง platelet-activating factor (PAF)
สำหรับฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของฟ้าทะลายโจรนั้นมีรายงานที่ขัดแย้งกัน Leelarasamee และคณะรายงานว่าผงส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจรที่แขวนตะกอนในน้ำ (ความเข้มข้น 1-25,000 มิลลิกรัม/ลิตร) ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอและอุจจาระร่วง และแม้ว่าจะใช้ serum ที่แยกจากเลือดที่เจาะจากอาสาสมัครที่กินผงส่วนเหนือดินฟ้าทะลายโจรครั้งเดียว (1-6 กรัม) และเจาะเลือดตั้งแต่ก่อนกินยา และ 1, 2, 4, 8 และ 24 ชั่วโมง หลังกินยา ขณะที่ ธิดารัตน์ ปลื้มใจ รายงานว่าสารสกัดใบฟ้าทะลายโจรด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือ 80% มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงที่ระดับความเข้มข้น 25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอที่ระดับความเข้มข้น 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
การรักษาอาการอุจจาระร่วง การทดลองทางคลินิกแบบ Randomized double-blind study เพื่อศึกษาประสิทธิผลของส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจรในการรักษาอาการอุจจาระร่วง และบิดแบคทีเรีย เปรียบเทียบกับ tetracycline ในผู้ป่วย 106 คน พบว่าฟ้าทะลายโจรขนาด 2 กรัมต่อวัน แบ่งให้ 2 ครั้ง (2 วัน) หรือ 4 ครั้ง (3 วัน) ลดจำนวนอุจจาระเหลว และจำนวนน้ำเกลือที่ให้ทดแทนได้ดีเท่ากับกลุ่มควบคุม และกลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรมีจำนวนเชื้อ Shigella ในอุจจาระน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับ tetracycline นอกจากนี้ยังพบว่าการให้ยาทั้ง 2 ชนิด แบบแบ่งให้ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 วันได้ผลในการรักษาดีกว่าแบบแบ่งให้ 4 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน

การใช้ประโยชน์ทางยา
1. การรักษาอาการเนื่องจากหวัด (common cold) ที่ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ให้สารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน (มี andrographolide และ deoxyandrographolide อย่างน้อย 60 มิลลิกรัมต่อวัน)
2. สำหรับบรรเทาอาการไข้และเจ็บคอ ให้ผงใบฟ้าทะลายโจรขนาด 6 กรัมต่อวัน
3. การรักษาอาการอุจจาระร่วง ให้ผงส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจรขนาด 2 กรัมต่อวัน แบ่งให้ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 วัน

อาการไม่พึงประสงค์ : อาจพบอาการแพ้ ผื่นคัน

พิษวิทยา
ไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลัน (acute toxicity) หรือกึ่งเรื้อรัง (subchronic toxicity) ในหนูถีบจักรของสารสกัดฟ้าทะลายโจรด้วยแอลกอฮอล์ โดยวิธีกรอกปาก และฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ได้ค่า LD50 มากกว่า 15 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้ทางปากหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และ 14.98 กรัม/กิโลกรัม โดยวิธีฉีดเข้าช่องท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่พบความเป็นพิษต่ออัณฑะในหนูขาวเพศผู้ที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรเป็นเวลา 2 เดือน สำหรับ andrographolide มีค่า LD50 เท่ากับ 11.46 กรัม/กิโลกรัม โดยวิธีฉีดเข้าช่องท้อง
สรุป
การที่สมุนไพรฟ้าทะลายโจรได้รับการบรรจุ เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาตินี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนายาสมุนไพรพื้นบ้านของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ จากหลักฐานทางวิชาการของฟ้าทะลายโจร เห็นว่ามีความเชื่อถือระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง อีกประการหนึ่งคือยาจากสมุนไพร ฟ้าทะลายโจรจะมีประสิทธิผลใกล้เคียงหรือเท่ากับยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการทดลองทางคลินิกนั้นจะต้องผลิตจากวัตถุดิบฟ้าทะลายโจรที่มีสาร andrographolide ในปริมาณใกล้เคียงกันซึ่งสามารถทำได้โดยการควบคุมมาตรฐาน (standardized) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
นอกจากนี้ ต้องมีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อความมั่นใจของผู้ใช้และผู้สั่งใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรต่อไป

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

ศูนย์เภสัชสนเทศ-โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

ศูนย์เภสัชสนเทศ-กลุ่มงานเภสัชกรรม
โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา